โรคของปลากัด

ปลากัด

ปลากัด เป็นปลาพื้นเมืองของไทยที่นิยมเพาะเลี้ยงกันมานานทั้งเพื่อความสวยงามและเพื่อเป็นเกมกีฬาการกัดปลาเช่นเดียวกับการชนไก่ ปลากัดเลี้ยงง่ายไม่ต้องดูแลเอาใจใส่มากไม่ต้องเปลี่ยนน้ำบ่อย และเนื่องจากมีอวัยวะช่วยหายใจพิเศษจึงอาศัยอยู่ในบริเวณน้ำนิ่งที่มีออกซิเจนต่ำได้ ปลากัดไทยมีลักษณะสวยงามดูจากสี รูปร่าง และกิริยาอาการ สีของปลากัดมีทั้งที่เป็นสีเดียวสีผสมและลวดลายต่าง ๆ ปลากัดตัวผู้จะสร้างรังหรือหวอดคอยดูแลไข่และตัวอ่อน การสร้างหวอดกระทำโดยการฮุบเอาอากาศเข้าไปแล้วพ่นน้ำเป็นฟองลอยอยู่บริเวณผิวน้ำหลังจากสร้างหวอดเสร็จแล้ว ซึ่งปลากัดก็เป็นสิ่งมีชีวิต มีเกิด แก่ เจ็บ และตายเช่นเดียวกับคน วันนี้มาดูกันว่าปลากัดมีโรคอะไรบ้าง 

โรคของปลากัด

  1.  โรคไฟลามทุ่ง  เป็นโรคที่ติดต่อกันได้เร็วที่สุดใช้ระยะเวลาเพียง 2 -3  วันก็จะติดต่อกันหมด โดยจะเป็นแผลบริเวณโคนครีบหาง ครีบหู และครีบท้อง ขอบแผลจะมีลักษณะเป็นรอยช้ำแดง และเป็นเส้นปุยสีขาว เกล็ดของปลาจะพอง ปลาที่เป็นโรคจะลอยตัวอยู่บริเวณผิวน้ำ
  2. โรคปากดำ เป็นโรคที่รักษาไม่หาย ปลากัดที่เป็นโรคปากดำจะนำไปกัดไม่ได้ ทั้งนี้เพราะปลากัดใช้ปากในการต่อสู้ ถ้าปากของปลากัดเจ็บก็ไม่สามารถต่อสู้กับศัตรูได้ ลักษณะอาการ ปลากัดที่เป็นโรคปากดำ ขอบปากด้านบนจะมีขอบหนามากผิดปกติ และจะมีสีดำเพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ
  3. โรคปากเปื่อย  จัดเป็นโรคที่ร้ายแรงชนิดหนึ่งของปลากัด โรคนี้รักษาไม่หาย ดังนั้นถ้าพบว่าปลากัดเป็นโรคปากเปื่อยต้องแยกออกทันที ลักษณะอาการ  เริ่มจากขอบปากเป็นแผลสีขาวและลักษณะเป็นขุยเส้นเล็กๆ ปลากัดที่เป็นโรคปากเปื่อยจะไม่ค่อยว่ายน้ำและมักลอยตัวอยู่บริเวณผิวน้ำเฉยๆ
  4. โรคท้องมาน  เป็นโรคที่อาจทำให้ผู้เพาะเลี้ยงปลาเข้าใจผิดคิดว่าปลาตั้งท้อง เพราะส่วนท้องของปลากัดจะพองออก โรคท้องมานอาจเกิดจากการที่ปลากัดติดเชื้อภายในช่องท้องและมีอาการอักเสบลักษณะอาการ ปลากัดมีลักษณะท้องโตเนื่องจากการติดเชื้อภายในช่องท้องจนทำให้ท้องมีขนาดโตผิดปกติ
  5. โรคปลาตัวสั่น  ปลาที่เป็นโรคจะมีอาการสั่น สาเหตุเกิดจากน้ำที่ใช้เลี้ยงสกปรกมีแบคทีเรียปะปนอยู่มาก หรือเกิดจากอุณหภูมิของน้ำเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ลักษณะอาการ ปลาที่เป็นโรคนี้จะมีอาการตัวสั่นและว่ายน้ำผิดปกติ
  6. โรคที่เกิดจากเชื้อรา  โดยปกติแล้วเชื้อราไม่ใช่สาเหตุที่แท้จริงของโรค สาเหตุของโรคเนื่องจากปลาได้รับความบอบช้ำ ลักษณะอาการ เห็นปุยขาวคล้ายสำลีในบริเวณที่เป็นโรค ปลามีอาการซึมไม่ว่ายน้ำ หยุดกินอาหาร ปลากัดสีซีด
  7. โรคหางและครีบเปื่อย เป็นโรคที่พบอยู่เสมอ สาเหตุเกิดจากน้ำที่ใช้เลี้ยงสกปรก มีตะกอนหรือเศษอาหารเหลือและทับถมอยู่ที่ก้นบ่อ ทำให้เป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรค ลักษณะอาการ ปลาจะเริ่มเปื่อยบริเวณครีบต่างๆก่อนแล้วค่อยๆลุกลามเข้าไปจนถึงตัวปลา โรคนี้เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ดังนั้นถ้าปลาเป็นโรคนี้แล้วจะทำให้ครีบต่างๆ ของปลาเสียหายไม่สวยงาม